share

เคล็ดลับให้ลูก ทารกนอนยาวทั้งคืน

Last updated: 22 Jan 2024
463 Views
ลูกนอนหลับ กับผ้าห่ม nappibaby

เด็กส่วนใหญ่สามารถหลับได้เองตลอดคืนตั้งแต่อายุประมาณ 3-4 เดือน แต่พ่อแม่หลายคนยังคงทำให้ลูกมีนิสัยการนอนแบบแย่ๆ ต่อไปอีกเป็นปีๆ โดยไม่รู้ตัว เมื่อเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปหรือมากกว่านั้นคุณสามารถสร้างโปรแกรมการนอนให้เขาได้แล้ว และถึงเขาจะเด็กกว่านั้น ก็สามารถสอนให้เขาเรียนรู้ได้แล้ว ไม่มีคำว่าเริ่มเร็วเกินไปหรอกค่ะสำหรับการสอนการนอนอย่างฉลาดให้ลูก ลองโปรแกรมนี้ดูค่ะ seven-day plan สอนลูกหลับสบายโดยไม่ร้องไห้โยเยภายใน 7 วันค่ะ


Day 1 : เริ่มปฏิบัติตามตารางอย่างสม่ำเสมอ
ทารกเกิดใหม่จะยังสับสนระหว่างกลางวันกลางคืน อาจงีบหลับกลางวันยาวนานและตื่นขึ้นมาเล่นตอนกลางคืนแทน ดังนั้นคุณต้องมีการวางแผนให้เบบี๋แล้วค่ะ มีงานวิจัยล่าสุดออกมาบอกว่าสามารถสอนให้ทารกรู้ความแตกต่างระหว่างกลางวันกับกลางคืนได้ ด้วยวิธีให้เขาให้ตื่นแต่เช้า ทำให้เป็นกิจวัตร เพื่อให้เขารู้ว่าต้องตื่นเวลานี้ทุกเช้า ตั้งเตียงนอนของเขาไว้ใกล้หน้าต่างและให้แสงผ่านเข้ามาได้ แสงจากธรรมชาตินี้จะช่วยให้เด็กจัดการแยกแยะช่วงเวลาของวันได้ ถ้าเขาตื่นขึ้นมาจากการงีบหลับกลางวันเมื่อเขาเห็นแสงแดด เขาจะสามารถเข้าใจได้ว่านี่คือเวลาที่เขาต้องตื่นแล้ว ถ้าเขาตื่นขึ้นมาตอนกลางคืนและเห็นความมืด เขาก็จะเรียนรู้ได้ว่าต้องกลับไปนอนต่อ

เมื่อถึงเวลานอนสวมชุดนอนให้เขาและอุ้มเขาลงวางในเตียง คุณอาจอ่านนิทานก่อนนอนหรือร้องเพลงกล่อมเขาก็ได้ เพื่อให้ระบบในร่างกายเด็กค่อยๆ ทำงานช้าลง ผ่อนคลาย และเคลิ้มหลับไป จากนั้นจึงปิดไฟ ให้ห้องอยู่ในความมืด แล้วออกจากห้อง


Day 2 : ฝึกฝน
วันที่ 2 นี้คุณก็ทำตามเมื่อวานที่คุณได้ทำไว้ ถ้าลูกยังคงต้องการให้ป้อนนมตอนกลางดึกอีก คุณแม่สามารถทำให้เขาสามารถแยกความแตกต่างระหว่างเวลากลางวันและกลางคืนได้ โดยเมื่อคุณให้นมลูก ป้อนให้เขาอย่างผ่อนคลาย เปิดไฟเพียงหรี่ๆ พยายามหลีกเลี่ยงการกระตุ้นให้เด็กตื่น แต่ถ้าคุณป้อนนมให้เขาตอนกลางวันให้ป้อนไปร้องเพลงไปหรือเดินไปด้วย เพื่อให้เขาแยกแยะความแตกต่างระหว่างกลางวันกลางคืนออก การอาบน้ำก็จะช่วยให้เด็กสงบลงได้เช่นกัน หรือว่าจะเป็นเสียงของพัดลมเป่า เสียงแอร์ หรือเสียงเพลงคลอเบาๆ จากวิทยุก็ใช้ได้ผลกับเด็กแรกเกิดเช่นกัน


Day 3 : เมื่อหนูเริ่มร้อง
ใจแข็งเข้าไว้ค่ะ คืนนี้เมื่อคุณเริ่มพาลูกเข้านอนในขณะที่ลูกยังตื่นอยู่ หลังจากที่เพิ่งป้อนนมเขาเสร็จแล้วเขากำลังเริ่มจะเคลิ้มหลับ แต่พอคุณพาเขาไปที่เตียง ลูกกลับลืมตาขึ้น และเริ่มแผดเสียงร้อง คุณควรวางเขาไว้ในเตียง แล้วออกมาจากห้อง คงเป็นเรื่องยากที่จะต้องทิ้งลูกไว้ในขณะที่เขากำลังร้องไห้ แต่อยากให้คุณแม่คิดถึงผลในระยะยาวค่ะ ก็เพื่อให้ลูกสามารถหลับได้ด้วยตัวของเขาเอง และมีวินัยในการนอน ฉะนั้นต้องใจแข็งเข้าไว้ และเพิกเฉยเสียงร้องของเขาบ้าง

เด็กทารกแรกเกิดสามารถฝึกได้ง่าย ถ้าเป็นเด็กเด็กอายุ 5-6 เดือนเขาจะงอแงกว่ามาก ถ้าคุณไปเปลี่ยนกฎของเขากะทันหัน แต่ถ้าเป็นเด็กอายุ 3 เดือนในทางตรงข้ามเขาจะเรียนรู้กฎจากสิ่งที่คุณสร้างไว้ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะสอนเขาตั้งแต่เล็กๆ
แต่ถ้าคุณเป็นห่วงลูกมาก สามารถเข้าเช็คดูเขาได้ทุกๆ 5 นาทีในคืนแรก แต่เข้าไปดูแค่ช่วงสั้นๆ นะคะ อย่าเปิดไฟหรืออุ้มเขาออกมาจากเตียง อย่าให้จุกนมเขาดูด เพราะเมื่อเขาตื่นนอนขึ้นมาอีกแล้วไม่มีจุกนม เขาก็จะเริ่มร้องไห้อีก


Day 4 : อดทนเข้าไว้
เมื่อคืนนั้นแสนจะยาวนานใช่มั้ยคะ ฉะนั้นคืนนี้ต้องมีการพัฒนานะคะ ลูกจะจำได้ในไม่ช้าค่ะว่าการร้องไห้ไม่ได้ก่อให้เกิดผลอะไร เมื่อลูกประท้วงหรือต่อต้านให้ยืดเวลาการตอบสนองเขาออกไปให้ยาวขึ้น จากที่เคยเข้าไปเช็คดูเขาทุก 5 นาทีให้เพิ่มเป็น 10 นาที


Day 5 : รับมือเบบี๋
เด็กส่วนใหญ่จะเรียนรู้โปรแกรมและทำตามได้ภายใน 3-5 วัน ดังนั้นคืนนี้คุณน่าจะโชคดีไม่ต้องเหนื่อยแล้วนะ ถ้าลูกยังคงมีปัญหาอยู่ คุณอาจยืดเวลาจาก 10 นาทีเป็น 15 นาทีค่อยเข้าไปตรวจดูเขาก็ได้ เด็กบางคนต้องการความแน่ใจว่าคุณจะไปตรวจเช็คดูแกซ้ำๆ ในขณะที่เด็กบางคนกลับคิดว่าคุณกำลังเล่นกับแกอยู่ ต้องระวังด้วยว่า การป้อนนมลูกบ่อยหรือมากเกินไป นั่นหมายความว่าคุณต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมให้แกบ่อยขึ้นเท่านั้น และก็จะทำให้แกตื่นนอนบ่อยด้วย


Day 6 : เบบี๋หลับตลอดคืน
การที่ลูกสามารถหลับได้ตลอดทั้งคืนถือเป็นความสุขอย่างล้นพ้นเลยใช่ไหมคะ ถึงตอนนี้คุณไม่ต้องเป็นกังวลมากจนเกินไปนะคะว่าแกจะเตะผ้าห่มออก แค่สวมชุดนอนที่อบอุ่นให้กับลูกก็เพียงพอแล้วค่ะ รับรองว่าเห็นผลคืบหน้าแน่นอน อย่ากดดันตัวเองโดยการเร่งรัดทุกอย่างให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว


Day 7 : นอนหลับพักผ่อน
ให้เวลาตัวคุณเองได้หายใจและพักผ่อนบ้าง ไม่เพียงแต่ตัวคุณจะได้พักผ่อนแต่ลูกคุณก็ได้ด้วย การมีนิสัยการนอนที่ดีจะทำให้เด็กมีสุขนิสัยที่ดีในระยะยาว สามารถหยุดยั้งอาการป่วยได้ หรือเข้ากันได้กับพี่น้อง หรือเมื่อพาเขาไปพักยังห้องนอนที่ไม่คุ้นเคยเขาก็สามารถหลับได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการฝึกฝนด้วย ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจลูกด้วยนะคะ


ที่มา : http://www.littleandmom.com/home.php

Related Content
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว and นโยบายคุกกี้
Compare product
0/4
Remove all
Compare
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy